แนวคิดและมุมมองในการดำเนินชีวิตที่เหมือนจะยาก แต่ต้องทำให้ได้อย่างง่ายๆ ของสาวสวยจาก Central Group คนนี้ กับบทบาทของการเป็นสาวออฟฟิศ ที่กล้าก้าวออกจากคำว่า Safe Zone ด้วยการบอกตัวเองให้ฉลาดพูด ฉลาดคิด และฉลาดทำและไม่ลืมที่จะสร้างทัศนคติที่ดีให้กับตนเองก่อนเสมอ
นางสาวดวงฤดี บุลาลม ศิษย์เก่าสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันร่วมงานกับ Central Group ในตำแหน่ง SALE ดูแลลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท ที่สนใจสั่งซื้อสินค้าประเภทวัตถุดิบในการทำอาหาร
“ลูกค้าส่วนใหญ่ที่หนิงดูแลจะเป็นกลุ่มลูกค้าของโรงแรม ร้านอาหาร และ Cafe & Restaurant สำหรับหนิงงานทุกงานมีความท้าทายและความยากอยู่ในตัวค่ะ ดังนั้น การเรียนรู้และปรับตัวให้ได้จึงเป็นสิ่งที่เราจะสามารถท้าทายตัวเราเองได้เป็นอย่างดีค่ะ ยิ่งโลกปัจจุบันทุกอย่างปรับเปลี่ยน และหมุนไปไวอย่างมาก หนิงเองก็เคยมีช่วงระยะเวลาทดลองใจกับตัวเองอยู่พักใหญ่เลยค่ะ แน่นอนว่าทุกคนมีเป้าหมายและมุมมองที่ต่างกัน แม้ว่าเราจะชอบสิ่งที่ทำอยู่แล้ว ชอบมากๆ ก็ตาม เซฟโซนที่ดีอาจจะมีระยะเวลาหมดอายุเช่นกันค่ะ หนิงเองเริ่มทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบเลยค่ะ ตอนนั้นเราอยากหาเงินเองเพื่อแบ่งเบาภาระที่บ้าน และอยากใช้เวลาว่างหลังจากเลิกเรียนให้เกิดประโยชน์ด้วยค่ะ งานแรกที่ทำก็ร่วมงานกับ Uniqlo งานนั้นทำมานานหลายปีค่ะ แต่ก็อยากเห็นตัวเองเติบโตมากขึ้น ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากมากทั้งกังวล ทั้งกลัว พูดคุยปรึกษากับคนรอบข้างมากมาย สุดท้ายก็ก้าวออกมาสู่โลกอีกใบ หนิงเลือกมาทำที่ Sansiri ค่ะ เป็นอีกงานที่ได้เจอคนมากมาย ต้องปรับตัวไม่น้อยเช่นกันค่ะ ทำไปได้สักพักก็ลองเปลี่ยนมาทำที่ Freshket เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ใช้พัฒนาระบบเทคโนโลยีการสั่งของสด สินค้าการเกษตร ดูแลระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารสามารถเข้าถึงข้อมูลรวมถึงขายสินค้าได้ในราคาที่ดีขึ้น ทำให้ร้านอาหาร โรงแรมและผู้ผลิตอาหารสามารถซื้อวัตถุดิบคุณภาพในราคาที่เหมาะสม และก็มาถึงงานปัจจุบันค่ะ จากการทำงานต่างๆ หนิงได้เห็นตัวเอง ได้เรียนรู้ เจอคนหลายรูปแบบ ได้ฝึกตัวเอง เมื่อเจอคนที่คิดไม่เหมือนกัน มุมมองต่างกัน แต่เราต้องจูนกับเขาเหล่านั้นอย่างไร ตรงนี้ทำให้เราได้หยิบประสบการณ์หลายๆ อย่างจากการทำกิจกรรมคณะมาประยุกต์ใช้ด้วยค่ะ เพื่อให้เราสามารถอยู่กับผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะทำอะไร หนิงจะท่องกับตัวเองไว้เสมอค่ะ จะทำอะไรก็ตาม คิดให้ดีก่อนพูดและทำ ตรึกตรองทุกอย่างก่อนที่จะขยับตัว เพื่อสร้างบุคลิกให้กับตัวเอง เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับตัวเอง เราจะได้ฉลาดที่จะทำ ฉลาดที่จะพูด และฉลาดในการจะคิด แม้ว่าจะตรึกตรองเท่าไรก็ตาม แน่นอนค่ะว่า ในการทำงานต้องพบเจอกับปัญหามากมาย คาแรกเตอร์ที่หนิงฝึกฝนตัวเองนั้น เอาเข้าจริงจะสำเร็จได้ เราก็ต้องสร้างทัศนคติที่ดีต่อตนเองก่อนด้วยค่ะ คิดไว้เลยจะทำอะไร ถ้าเกิดพบปัญหาขึ้นมา อย่าบั่นทอนแต่ต้องบอกกับตัวเองเสมอว่าฉันจะแก้ปัญหา หนิงจะบอกกับตัวเองแบบนี้ตลอดค่ะ ปัญหานั้นจะต้องไม่หายไปเฉยๆ ฉันจะดำเนินการกับมัน มีสติมองให้เห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และแก้ให้ตรงจุด ใครๆ จึงบอกว่าหนิงเป็นคนจริงจังกับทุกเรื่อง ใช่ค่ะ เพราะว่าหนิงอยากทำทุกอย่างให้ออกมาดี เล่นเต็มที่ ทำงานเต็มที่ บาลานซ์กิจกรรมและไลฟ์สไตล์ให้ดีที่สุดค่ะ”
การวางแผนชีวิต คำถามนี้ให้หนิงเลือกตอบตอนที่เรียนจบมัธยมปลาย เราตอบตัวเองไม่ได้ แม้กระทั่งเลือกไปแล้วด้วยซ้ำว่าจะเรียนสาขาวิชาภาษาจีน เพราะหนิงเรียนสายศิลป์-ภาษาจีนมา ก็ตาม
“เห็นว่าหนิงเรียนศิลป์-จีนมา ก็เรียนภาษาจีนนี่แหละ พอจะมีพื้นฐานอยู่ ตัดสินใจแล้วนะคะ แต่พอเอาเข้าจริง หนิงได้มาเจอกับรุ่นพี่ที่คณะ เจออาจารย์ พอได้พูดคุยไปทีละคำถาม ก็ค่อยๆ มีคำตอบออกมา และอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเหตุผลประกอบคำตอบที่เราเลือก คือเราได้เห็นตัวอย่างค่ะ ฟีลเหมือนที่วิทยาลัยก็จะมีสตอรี่ พี่คนนี้ได้ทำอย่างนั้น พี่คนนี้แหวกแนวไปทำแบบนี้ เราก็ย้อนมองกลับที่ตัวเองว่าเราเห็นภาพอะไร หนิงจำได้ว่าเห็นรุ่นพี่คนหนึ่งเขาได้สอนภาษาไทยให้คนต่างชาติ ได้แนะนำสิ่งที่น่าภูมิใจของคนไทยส่งต่อให้ชาวต่างชาติได้เรียนรู้ หนิงก็ชอบและอยากทำอะไรๆ ที่น่าภูมิใจแบบนั้นค่ะ และเคยอยากเป็นนักข่าวด้วยค่ะ เลยคิดว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่น่าเรียน แม้ว่าเราจะพูดภาษาไทยเป็น แต่การสื่อสารของเราดีพอหรือยัง เราเป็นผู้รับสาร เป็นผู้ฟัง เป็นผู้ส่งสารที่ดีหรือยัง ก็เลยตัดสินใจเลือกสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารค่ะ”
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่หล่อหลอมเราได้ชัดเจนอีกช่วงเวลาหนึ่ง ยิ่งการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มันก็เหมือนการเก็บประสบการณ์ชีวิตที่อยู่นอกห้องเรียน ยิ่งที่วิทยาลัยศิลปศาสตร์แห่งนี้ มีการตั้งทีมสโมสรนักศึกษาของวิทยาลัย เพื่อดำเนินการดูแล บริหาร ในการจัดกิจกรรมตลอดปีการศึกษา
“หนิง เข้าร่วมกิจกรรมของวิทยาลัยมาตั้งแต่ปี 1 จนกระทั่งขึ้นปี 2 ก็เริ่มมีบทบาทหน้าที่ให้รับผิดชอบ ในการดูและรุ่นน้อง สนับสนุนรุ่นพี่ในการทำกิจกรรมต่างๆ และเมื่อขึ้นชั้นปี 3 ก็เป็นคณะกรรมการนักศึกษาด้วยค่ะ ถามว่าต้องทำอะไรบ้าง คณะกรรมการทุกคนจะมีตำแหน่ง มีฝ่าย ต้อง
ดูแลรับผิดชอบเสมือนเราเป็น Organizer ในการดำเนินงานเต็มรูปแบบนี้นั้น จะสอนให้พวกเราได้ร่วมงานกันอย่างจริงจัง เผชิญหน้ากับปัญหา แก้ปัญหา ได้ภูมิใจ ได้สนุกสนาน ได้เรียนรู้ก็จากการได้ทำงานคณะ เหมือนเราจำลองโลกของการทำงานหลังที่เราเรียนจบเอาไว้แบบย่อมๆ แม้กระทั่งตอนนี้เอง หนิงเรียนจบมาหลายปีแล้วค่ะ แต่หนิงก็ยังหาเวลากลับมาเข้าร่วมกิจกรรมกับรุ่นน้องเสมอ หากถามว่าระยะเวลาเนิ่นนานที่เริ่มมาเป็นนักศึกษา จนกระทั่งเป็นศิษย์เก่านั้น ประทับใจอะไรบ้าง สำหรับหนิงเป็นคำถามที่ตอบยากมากค่ะ เพราะแทบจะไม่มีอะไรที่ไม่ประทับใจ หนิงมีความสุขและสนุกมากทั้งเรื่องเรียนและงานกิจกรรม ถ้ายกตัวอย่างความประทับใจก็จะเป็นตอนที่ได้มีโอกาสแสดงซีรีย์สอนภาษาไทยให้คนจีนค่ะ ซึ่งเป็นโปรเจคของรุ่นพี่ศิษย์เก่าเอกไทย ที่ไปเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้คนจีนอยู่ที่ประเทศจีนค่ะ เป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจมากๆเลย และในฐานะศิษย์เก่าเอง หนิงก็ได้เห็นว่า อะไรที่เราจะสามารถแนะนำ หรือพูดคุยกับน้องๆ ได้ เพราะเวลาที่หนิงกลับมาร่วมกิจกรรม ก็จะได้เจอรุ่นน้องหลายๆ รุ่นเลยค่ะ เขาก็กำลังเดินตามรอยรุ่นพี่เติบโตขึ้นมา เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับน้องๆ ก็จะเล่าให้ฟังตลอดค่ะ ว่าที่ทำอยู่ดีแล้ว เป็นโอกาสที่ดี เรียนรู้ให้เยอะๆ เข้าไว้ ประสบการณ์ของเราแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ดังนั้น การได้ลงมือทำจะเป็นคำตอบ เป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับตัวเราเอง อยากให้พวกเขาใช้เวลาทุกนาทีที่เป็นนักศึกษาให้เต็มที่”
#https://gooduniversity.net/