
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือด้านวิชาการ พร้อมเปิดตัวหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และสุขภาพ “เวฬา รุ่นที่ 3” หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA) Batch 3” โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายแพทย์กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย ผู้แทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งมุ่งหวังที่จะพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรของประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ที่มีความพร้อมจะเป็นผู้นำองค์กรในการพัฒนาและบริหารจัดการองค์กรของประเทศไทยสู่ Medical Hub ของโลก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4
ภายใต้ความร่วมมือด้านวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านสุขภาพและการแพทย์ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยเปิดอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยผู้ผ่านการอบรมเป็นผู้บริหารจากหลายหลากอาชีพที่ให้ความสนใจอบรมเป็นอย่างมาก ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และสุขภาพ “เวฬา รุ่นที่ 3” เป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการผสานความร่วมมือระหว่างบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ดีกรีพลัส จำกัด และกรมอนามัย เพื่อพัฒนาบุคลากรระดับผู้นำองค์กรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Medical Hub ของโลก ตลอดจนเพื่อการจัดการความรู้ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต จุฬาฯ พร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิด “Chula Togetherness & Growth” ที่มุ่งเน้นการเติบโตใน 3 ด้าน ได้แก่ ผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม การบูรณาการ และการเติบโตในระดับนานาชาติ
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพ โดยความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านหลักสูตร Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA) เพื่อสร้างผู้นำองค์กรที่มีความพร้อมในการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
หลักสูตร “เวฬา” เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่เน้นเพิ่มพูนองค์ความรู้สำหรับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร โดยมุ่งเน้นเรื่อง Longevity เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้ “แก่ช้า อายุยืน อย่างมีคุณภาพ” โดยครอบคลุมองค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ที่ล้ำหน้าและทันสมัย เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลักสูตร “เวฬา” เปิดอบรมมาแล้ว 2 รุ่น โดยหลักสูตร “เวฬา รุ่นที่ 1” ปี 2566 มีผู้ผ่านการอบรม จำนวน 85 คน และหลักสูตร “เวฬา รุ่นที่ 2” ปี 2567 มีผู้ผ่านการอบรม จำนวน 99 คน ผู้เข้าอบรมมาจากหลายหลากอาชีพและหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งสามารถนำความรู้ไปต่อยอดและขยายธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพเพิ่มเติมได้
“หลักสูตรเวฬาไม่ได้เป็นเพียงการเรียนรู้เชิงวิชาการ แต่เป็นการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งและองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ความรู้จากหลักสูตรยังต่อยอดไปสู่การพัฒนาเชิงธุรกิจและสุขภาพ ผู้เข้าอบรมสามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง” – รศ.ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ
“เมื่ออายุยืนยาวขึ้น สิ่งสำคัญคือการวางแผนการเงินให้ดี เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไปตลอด หลักสูตรเวฬา นอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว ในหลักสูตรมีการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งช่วยเปิดมุมมองและนำแนวคิดใหม่ ๆ กลับมาพัฒนาการทำงานได้อย่างดียิ่ง” –
คุณไพรัช เอื้อชูยศ ประธานรุ่น หลักสูตรเวฬา 1
“หลักสูตรเวฬาช่วยให้เข้าใจการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ตั้งแต่อาหาร การออกกำลังกาย ไปจนถึงจิตใจและสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาทำให้ได้รับองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในการดูแลสุขภาพและต่อยอดธุรกิจบริการสุขภาพที่ยั่งยืน” – ทพญ.ดร.จุไรภรณ์ วิจักขณวงศ์ ประธานรุ่น หลักสูตรเวฬา 2
“หลักสูตรเวฬาเน้นการวางแผนชีวิตระยะยาว ตั้งแต่สุขภาพ การใช้ชีวิต การเงิน ไปจนถึงแนวทางในการดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ ในหลักสูตรมีการศึกษาดูงานต่างประเทศ ทำให้ได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเทคโนโลยีและแนวคิดการดูแลสุขภาพของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร และสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ในบริบทของไทยได้ ผู้เข้าอบรมทุกคนจะต้องทำโครงการ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจและการพัฒนาสังคมได้จริง” – ศ.ดร.สถิรกร พงศ์พานิช – ประธานอำนวยการหลักสูตรเวฬา 2
สำหรับหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และสุขภาพ “เวฬา รุ่นที่ 3” หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)” Batch 3 จะจัดอบรมระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน 2568 มีผู้เข้าอบรมที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 100 คน โดยหลักสูตรมีเนื้อหาที่มุ่งเน้นองค์ความรู้ที่ล้ำสมัย อาทิ การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Reverse Aging) สุขภาพเพศกับการมีอายุยืน (Sexual Health & Longevity) เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การนอนหลับและสุขภาพจิต (Sleep and Mental Health) และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานในทางการแพทย์ (AI and ChatGPT in Medicine & Longevity Digital Platform) เป็นต้น โดยจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานหลากหลายรูปแบบ (Learning Experiences) ได้แก่ การบรรยายสรุปประเด็นสำคัญโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก (Executive Brief) การขยายเครือข่ายผู้นำเปิดมุมมอง และโอกาสใหม่ ๆ (Extensive Networking) เปิดประสบการณ์นวัตกรรมสุขภาพล้ำสมัยจากทั่วโลก (Innovation Showcase) เสวนาประเด็นร้อน ด้านธุรกิจกฎหมาย และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง (Panel Discussion) การสรรค์สร้างโปรเจกต์ พร้อมต่อยอดธุรกิจอย่างยั่งยืน (Capstone Project) เยี่ยมชมนวัตกรรมในสถานที่จริง ทั้งในและต่างประเทศ (Exclusive Site Visit) เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้บริหาร/ผู้ประกอบการด้านธุรกิจและการให้บริการด้านสุขภาพทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมหลักสูตรนี้ไปใช้พัฒนาองค์กรและพัฒนาธุรกิจให้มีความโดดเด่นในด้านมาตรฐานการให้บริการทัดเทียมกับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ระดับนานาชาติ