กีฬาปัญญาชน หรือการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 50 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพ ปิดฉากลงไปแล้ว โดยเจ้าเหรียญทองตกเป็นของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ที่ขนนักกีฬาระดับชาติมาร่วมเต็มพิกัด
ส่วนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็ประสบความสำเร็จกันตามเป้าหมายที่วางไว้…
แต่ที่เหนืออื่นใด คือการได้เข้าร่วมการแข่งขันและเป็นสังเวียนให้นักศึกษาได้แสดงออกถึงความสามารถและ “สปิริต” ของนักกีฬาอย่างเต็มที่
หนึ่งในสถาบันที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมเป็นประจำและผู้บริหารให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ก็คือ “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” ไล่ตั้งแต่นายกสภามหาวิทยาลัยผู้มีความชื่นชอบกีฬาเป็นทุนเดิม รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย รวมทั้งอธิการบดี รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ ที่ไฟเขียวสนับสนุนอย่างเต็มที่ และผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง ผศ.ดร.สมศักดิ์ คล้ายสังข์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ลงมาลุยเพื่องานนี้โดยเฉพาะ
โดยในศึก “ธรรมศาสตร์เกมส์” ทัพนักกีฬาของสวนสุนันทา สร้างชื่อคว้ามาได้ถึง 11 เหรียญรางวัล
4 เหรียญทอง: หมากกระดาน (หมากฮอส) และมวยสากลสมัครเล่น
3 เหรียญเงิน: จานร่อนและหมากกระดาน
4 เหรียญทองแดง: มวยสากลสมัครเล่นและจานร่อน
นอกจากนี้ยังมีผลงานกีฬาสาธิตเรือพายที่คว้ามาได้ 3 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง พร้อมคว้า 2 รางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม และ 1 รางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยม
ทีมข่าว “สำนักข่าวการศึกษาไทย” พร้อมทีมข่าวการศึกษาอันดับ 1 ของไทย “Eduzones” จึงถือโอกาสเข้าสัมภาษณ์ผู้ฝึกสอน และนักกีฬาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง ในการแข่งขัน “ธรรมศาสตร์เกมส์” ครั้งที่ 50 ที่ผ่านมาเพื่อจารึกในความทุ่มเทพยายามจนประสบความสำเร็จ…
อาจารย์วิษณุ สมัญญา (ผู้ฝึกสอนนักกีฬามวยสากล) กล่าวว่า “จากอดีตผมผันตัวจากการเป็นนักกีฬามวยสากลของ ม. ศรีนครินทรวิโรฒ ก่อนมาทำงานเป็นผู้ฝึกสอนที่สวนสุนันทา เพื่อปั้นนักมวยให้มีทักษะและประสบการณ์ ผมมีประสบการณ์การฝึกสอนตั้งแต่เริ่ม จนเข้ามาที่ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ก็ราว ๆ 14 ปีมาแล้ว
“ผมภูมิใจกับนักกีฬาทุกคนที่ได้ฝึกสอน เพราะทุกคนมีทักษะและความสามารถ รวมถึงความอดทนสูง สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกจะเลือกจากตัวนักศึกษาหรือนักกีฬาที่มีทักษะพื้นฐานอยู่แล้ว มาทำการฝึกฝนทักษะเพิ่ม หลังจบการฝึกฝนในแต่ละครั้ง ผมจะวัดผลการฝึกซ้อมจากทักษะหรือว่าพัฒนาการของตัวนักกีฬา ว่าในส่วนไหนที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง จากนั้นพานักกีฬาไปหาประการณ์เพิ่มเติม แล้วนำมาพัฒนาว่ามีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เราได้เหรียญรางวัลในการแข่งขัน “ธรรมศาสตร์เกมส์” ครั้งที่ 50 นี้ ก็คือการเตรียมพร้อมในการฝึกซ้อม เพิ่มเติมทักษะพื้นฐานและทักษะเฉพาะตัวนำออกมาใช้ได้อย่างดุดันมากขึ้นก่อนการแข่งขันเวลาเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด” ยอดโค้ชมวยเสื้อกล้ามเล่าให้เราฟัง
ส่วนการวางแผนนั้น โค้ชมวยกล่าวว่า เราจะต้องคิดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและวิเคราะห์เกมเพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามให้ได้ ซึ่งก็อยากแนะนำสำหรับผู้ที่อยากจะเข้ามาทำงานในวงการผู้ฝึกสอนนักกีฬามวยสากลทุกคน ว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นโค้ช คือ ต้องสร้างแรงบันดาลใจ สร้างสปิริตให้กับนักกีฬาทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องคาดหวังในผลแพ้ชนะมาก เกินกว่ากำลังใจของนักกีฬา และขอฝากถึงนักกีฬาน้องๆ หรือผู้ที่มีความสนใจ รวมถึงนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ใน ม.ราชภัฏสวนสุนันทา หากต้องการเรียนมวยสามารถมาพบกับพวกเราที่นี่ได้เลย
รางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง กีฬามวยสากลสมัครเล่นชาย (ไลท์เวท)
นายณัฐพงศ์ หนูเขียว นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะการเมืองการปกครอง กล่าวว่า “แรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกเล่นมวยสากล เพราะว่าตอนเด็กๆ ชอบกีฬาประเภทต่อสู้ พ่อก็เลยแนะนำให้เล่นกีฬามวยไทยก่อน เริ่มเล่นมวยสากล ตั้งแต่ช่วง ม.ปลาย ปีแรก ตอนนั้นมีอาจารย์มาชักชวนให้ไปเล่นให้กับจังหวัดพิษณุโลก เพราะกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนกีฬาพิษณุโลก ปกติซ้อมวันละ 5 ชั่วโมง ช่วงเช้าใช้เวลากับ การยืดเหยียดและทบทวนพื้นฐาน 2 ชั่วโมง และในช่วงบาย จะฝึกการวิ่งเข้าเป้าและทวบทวนพื้นฐาน 3 ชั่วโมง
“ส่วนตัวผมรู้สึกประทับใจกับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่ผ่านมา เพราะคู่ต่อสู้มีทักษะและแรงฮึดสู้ และเป็นมวยมาก ประทับใจที่สามารถสู้ได้สูสีและเอาชัยชนะมาได้ ก่อนการแข่งขันเป็นปกติที่จะมีแรงกดดันสูง แต่จะยึดมั่นใจกับตัวเองว่า ไม่ว่าผลจะเป็นแพ้หรือชนะ จงทำให้เต็มที่ เพื่อจะได้ไม่กลับมาเสียใจทีหลัง” ยอดมวยปัญญาชนเล่าให้ฟัง
สำหรับประสบการณ์ที่ต้องพักฟื้นเพราะอาการบาดเจ็บนั้น แชมป์คนล่าสุดบอกว่า ผมเคยเจอกับอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อขาขวา อาการปวดหลัง และอาการเจ็บแขนข้างซ้าย ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อการชก แต่เมื่อพบกับอาการบาดเจ็บก็จะพยายามนวดยืดเหยียด เพื่อที่จะสู้ในทุกเวทีให้ได้เต็มร้อยที่สุด
“ผมขอบคุณทางมหาวิทยาลัย โค้ช ทีมงาน และพี่ๆ น้องๆ ที่ได้ฝึกซ้อมให้กับตัวผมตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เป้าหมายของผมคือการพัฒนาตัวเองและก็อยากจะครองแชมป์ในการแข่งขัน ต่อไปๆ รวมถึงอยากจะชักชวนน้องๆ ที่มีความสนใจกีฬามวยสากล ที่นี่สามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นโค้ช อุปกรณ์ เวที สถานที่ ที่นี่ครบครันเหมาะสำหรับการฝึกซ้อม” นักชกเหรียญทองของสวนสุนันทา กล่าวส่งท้าย
รางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง กีฬาหมากกระดาน (หมากฮอส) ประเภทบุคคลชาย และ ประเภททีมชาย
นายอดุลวิทย์ สุธีกาญจโนทัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ สาขาการจัดการ E-sport กล่าวว่า “ผมเริ่มต้นเล่นหมากฮอสตั้งแต่อายุ 10 ขวบ มี พ่อ แม่กับพี่ชาย ที่ช่วยสนับสนุน ตอนนั้นผมได้แข่งขันภายในโรงเรียน และก็ได้เป็นตัวแทน เนื่องจากตอนนั้นทั้งสามคนรวมตัวผมได้คะแนนเท่ากัน ก็เลยต้องได้จับฉลากเพื่อเลือกคนไปแข่งขันรอบต่อไป ผมจำความรู้สึกที่ผมจับได้ที่สามได้อย่างชัดเจน พอกลับมาที่บ้านผมก็ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเป็นตัวแทนในการแข่งขันระดับภาคและระดับประเทศให้ได้ จนได้มายืนจุดนี้
“สำหรับการจัดเวลาซ้อมผมให้ความสำคัญใหญ่ๆ กับการเรียนเป็นหลัก และด้วยความที่หมากฮอสเป็นสิ่งที่ผมมีความชื่นชอบมากๆ อยู่แล้ว ผมก็ใช้เวลาว่างในการฝึกซ้อมโดยชวนเพื่อๆ พี่ๆ ที่รู้จักมาฝึกฝน ขัดเกลาฝีมือ ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน ผมได้รับแรงบันดาลใจจากโค้ชและครอบครัว ทำให้มีแรงฮึดสู้และพลิกเกมส์ต่างๆ มาได้ ผมเคยเผชิญความพ่ายแพ้เมื่อปีที่แล้วกับนักกีฬาธรรมศาสตร์ในรอบชิงชนะเลิศ กติกาคือเสมอเท่ากับแพ้ ตอนนั้นผมได้แพ้ไป ผมรู้สึกเสียใจมากและก็นำความรู้สึกครั้งนั้นกลับมาฝึกฝนฝีมือจนครั้งนี้ผมได้คว้าชัยชนะมา ผมฝากถึงเยาวชนที่จะเข้ามา หมั่นฝึกซ้อมและการมีเพื่อนร่วมทีม มีโค้ชที่ดี รับรองว่าไปได้ไกลแน่นอน เชิญชวนให้มาเล่นหมากฮอส หลายๆ มหาวิทยาลัยมีโค้วต้าในส่วนนี้ รวมถึง ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ที่จะมีทุนฟรีให้ตั้งแต่แรกเข้า มีการสนับสนุนในส่วนต่างๆ”
รางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง กีฬาหมากกระดาน (หมากฮอส) ประเภททีมชาย
นายศรราม เสนคำสอน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ กล่าวว่า “เริ่มแรกผมได้แรงบันดาลใจ ตอนอายุ 10 ขวบ จากคุณลุงแถวบ้านและก็แพ้ไป ตอนนั้นก็อยากจะฝึกฝนเล่นหมากฮอส สำหรับการซ้อมในตอนนี้ก็จะทำการตั้งหมากและดูคลิป นำข้อมูลหรือว่าแนวคิดต่างๆ มาช่วยในการฝึกซ้อม
“ปัจจัยที่ช่วยให้ชนะหรือช่วยพัฒนาฝีมือ คือ การฝึกซ้อมเดินหมากให้เยอะๆ รวมถึงคิดการโต้ตอบการเดินหมากของคู่ต่อสู้ ส่วนการแข่งขันที่ผมประทับใจมากที่สุด คือ การแข่งขันที่ จ. อุดรธานี ตอนนั้นได้รางวัล 1 เหรียญทองและ 1 เหรียญเงิน ที่สำคัญคือได้แข่งกับรุ่นพี่ “บาส” ที่ผมเคารพมากที่สุด สิ่งที่สำคัญในการพัฒนา คือ การวางแผนการฝึกซ้อมและมีการพักผ่อนที่ดี หลังเลิกเรียนผมจะแบ่งเวลาซ้อมให้กับตัวเอง 3-4 ชั่วโมง ทำทุกๆ วัน และทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ตัวผมที่บ้านไม่ได้มีฐานะอะไรแต่ได้รับทุนการศึกษาจากการเล่นกีฬาหมากฮอส นี่ก็เป็นหนึ่งแรงผลักดันของผมเองด้วย”
แม้จะทุ่มเทจนก้าวสู่ระดับแชมป์ แต่อุปสรรคที่ “ศรราม” ต้องต่อสู้มาตลอดก็คือเรื่องของอาการบาดเจ็บ และโรคประจำตัว
“ตัวผมได้รับบาดเจ็บจากการทำงานตั้งแต่อายุ 14 ปี สะสมมาเรื่อยๆ จนเริ่มทรุดหนักช่วง ม.6 เป็น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและข้อสะโพกอักเสบ ต้องได้เข้าโรงพยาบาลและได้ดร็อปเรียนไป 1 ปี ผมมีความจำเป็น ไม่สามารถหยุดทำงานได้ พอกลับไปทำงานอาการบาดเจ็บก็หนักขึ้น แต่ยังโชคดีที่ได้ออกจากโรงพยาบาลมาทันการแข่ง “ธรรมศาสตร์เกมส์” ในระหว่างการแข่งก็มีอาการเจ็บเป็นระยะ ๆ จนกรรมการอนุญาตให้นอนแข่งได้ ก็สู้จนการแข่งขันจบและประสบความสำเร็จ จึงขอฝากอยากให้ทุกคนๆ ดูแลสุขภาพของตัวเองให้มากๆ และขอขอบคุณโค้ช อาจารย์ และทีมสวนสุนันทา ท่านผู้บริหารทุกคน ที่ช่วยในการให้ความรู้และฝึกฝนตัวผมจนมาถึงจุดนี้ได้”
เมื่อถามถึงเป้าหมายการเป็นนักกีฬาและวางแผนชีวิตในอนาคต ยอดนักโขกยอมรับถึงความยากลำบากและสิ่งที่อยากจะขอโอกาส “ถึงผมจะไม่ค่อยมีพร้อม แต่ก็ยังมุ่งมั่นครับ ตอนซ้อมก็แบ่งร่างเป็น 2 คน หนึ่งคือตัวเราเอง และอีกคนก็มโนว่าเป็นคู่แข่ง ถ้าเราเดินแบบนี้ เขาจะแก้ยังไง สลับกันไปมา ในขณะคนอื่นเขามีคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ้ค ซ้อมกับโปรแกรม เขาถอดหมากแค่ 1-2 ชั่วโมง แต่ผมไม่มี เลยจินตนาการเอา กว่าจะถอดได้ 4-5 ชั่วโมง ก็ใช้ความพยายามสู้ครับ ผมจะเล่นกีฬานี้ต่อไปแน่นอน ถ้ามีโอกาสอยากได้เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ้คมือสองสักเครื่อง เพื่อการเรียนและการฝึกซ้อม แค่นี้ก็พอแล้วครับ
ฝากถึงน้องๆ ที่มีความสนใจอยากจะเข้ามาเรียนและเล่นกีฬาที่นี่ว่า เรามีโค้ชที่ช่วยซัพพอร์ตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษา การให้แนวคิดหรือว่าการฝึกฝน ฝึกซ้อม ได้มาเรียนที่สวนสุนันทา รับรองว่าอนาคตเราดีแน่นอน”
รางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง กีฬาหมากกระดาน (หมากฮอส) ประเภทคู่ผสม
นางสาวอมรรัตน์ เชื้อจีน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะการเมืองและการปกครอง สาขานิติศาสตร์ กล่าวว่า “เริ่มเล่นตั้งแต่อายุ 13 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์และก็พ่อ ตอนนั้นได้มีเพื่อนชวนเข้ามาเริ่มเล่นหมากกระดาน เวลานั้นมีการคัดเลือกคนเข้าแข่งขันพอดี หนูได้รับที่ 3 จากแข่งขันที่ จ.อุดรธานี สำหรับการแบ่งเวลาฝึกซ้อม จะซ้อมช่วงหลังเลิกเรียน โดยซ้อมจากโปรแกรมการเดินหมากและคำแนะนำคำปรึกษาจากโค้ช การแข่งขันที่ภูมิใจที่สุดคือการแข่งขันรอบล่าสุดในงาน “ธรรมศาสตร์เกมส์”
“ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังถึงรางวัลหรือว่าผลแพ้ชนะ หวังได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการแข่งขัน เราเพียงต้องเล่นให้ได้เต็มที่ จากที่หนูไม่เคยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับหมากฮอสเลยแต่ได้พัฒนาตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ หนูรู้สึกมีความสุขและภูมิใจในตัวเอง ภูมิใจในทีม ภูมิใจกับคนรอบข้าง”
แม้จะเป็นกีฬาที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากมาย ไม่มีรายการแข่งขันต่อเนื่อง หรือได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐหรือเอกชน แต่น้อง “อมรรัตน์” ก็ยืนยันว่า ที่เล่นเพราะใจรัก และก้าวมาถึงจุดนี้เพราะคนรอบข้างที่สนับสนุน จึงขอขอบคุณโค้ช ขอบคุณครอบครัวที่ดูแลและเป็นแรงใจมาตลอด รวมทั้งฝากถึงทุกคนที่มีความสนใจ เชื่อว่าขอเพียงทุกคนตั้งใจ ขยันฝึกซ้อม และมีความตั้งใจ ทุกคนสามารถทำได้แน่นอน