เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ “ไวรัสหรือวิกฤต Social กับเกมข่าวยุคดิจิทัล” ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจด้านสื่อสารมวลชนเป็นจำนวนมาก
การเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อการรายงานข่าวในยุคดิจิทัล พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อมวลชน โดยมี วิทยากรผู้ร่วมเสวนาในงานประกอบด้วยคุณวิชัย สอนเรือง หัวหน้าข่าวออนไลน์จากสยามรัฐ คุณจิตรสนา อินธิสาร creative รายการโหนกระแส คุณสุปรีชา บุญประเสริฐ จากสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชัน และดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์ ดร.กฤติญา กวีจารุกรณ์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ BTU Channel และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ พิธีเปิดการเสวนาโดย ผศ.ดร.พนม วรรณศิริ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงม.กรุงเทพธนบุรี
ภายในงานมีการเสวนาในประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับยุคสมัยที่เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านการสื่อสาร การทำงาน การเรียนรู้ การทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงต่าง ๆ ในยุคดิจิทัล ข้อมูลถูกจัดเก็บและส่งผ่านในรูปแบบ ดิจิทัล (Digital) ซึ่งช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ได้แก่ อินเทอร์เน็ต (Internet) สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter, Instagra แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ และแอปพลิเคชันดิจิทัล ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Big Data
ทั้งนี้ ยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิธีคิดของคนในสังคม ทำให้การสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้แบบ เรียลไทม์ (Real-Time) ทันสถานการณ์ แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทาย เช่น ปัญหาข่าวปลอม ความปลอดภัยของข้อมูล และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ได้กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อการรายงานข่าวที่รวดเร็วแต่อาจขาดการกลั่นกรองโดยคุณวิชัย สอนเรือง ได้กล่าวว่า “โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการกระจายข่าวสารอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับวงการสื่อมวลชน ในแง่หนึ่ง การรายงานข่าวผ่านโซเชียลมีเดียสามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ทันที แต่ในขณะเดียวกัน หากขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ ก็อาจนำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาด ข่าวลวง หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมได้ นักข่าวมืออาชีพจึงต้องปรับตัวและใช้โซเชียลมีเดียอย่างรอบคอบ โดยเน้นความรวดเร็วควบคู่ไปกับความถูกต้อง และต้องกล้าที่จะชะลอการรายงาน หากข้อมูลยังไม่ผ่านการกลั่นกรองที่เพียงพอ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของสื่อและตัวผู้สื่อข่าวเอง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานข่าวในยุคดิจิทัล”
คุณสุปรีชา บุญประเสริฐ จากสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชัน กล่าวถึงประเด็น การรับมือกับข่าวปลอมที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ว่า“ปัญหาข่าวปลอมในยุคดิจิทัลถือเป็นวิกฤตสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนและความเข้าใจของประชาชนในประเด็นต่าง ๆ เพราะโซเชียลมีเดียสามารถทำให้ข่าวที่ผิดพลาดหรือบิดเบือนกระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว วิธีการรับมือกับข่าวปลอมที่มีประสิทธิภาพคือ การตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น (Fact-checking) ก่อนเผยแพร่ข่าวออกไป นักข่าวต้องมีความรอบคอบและใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ในการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล รวมถึงการเช็คความถูกต้องจากหลายฝ่ายเพื่อสร้างความมั่นใจ นอกจากนี้ สังคมต้องได้รับการปลูกฝังให้รู้เท่าทันสื่อ มีวิจารณญาณในการเสพข่าว ไม่แชร์ข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการกลั่นกรอง และสื่อมวลชนมืออาชีพต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดผลกระทบจากข่าวปลอมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน”
คุณจิตรสนา อินธิสาร Creative รายการโหนกระแส ได้แนะนำวิธีการเพิ่มพูนทักษะในการจัดการกับข่าวสารในยุคดิจิทัล จากประสบการณ์การทำงานในรายการโหนกระแส ว่า“การทำงานในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลข่าวสารไหลมารวดเร็วและหลากหลาย นักข่าวและผู้ผลิตคอนเทนต์ ต้องพัฒนาทักษะสำคัญสามประการ ได้แก่ ประการแรก ทักษะการคัดกรองข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะข้อมูลจำนวนมากบนโซเชียลมีเดียอาจเป็นทั้งข่าวจริงและข่าวลวง การตรวจสอบที่มาและความน่าเชื่อถือของข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การใช้เครื่องมือดิจิทัลในการตรวจสอบภาพหรือแหล่งข่าวประกอบ ประการที่สองทักษะการเล่าเรื่องที่ดึงดูดและน่าสนใจ ในรายการ โหนกระแส เราให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องที่เข้าถึงง่าย กระชับ และตรงประเด็น เพื่อดึงดูดผู้ชมพร้อมทั้งรักษาแก่นแท้ของความจริงเอาไว้ ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า คุณหนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย เป็นผู้ดำเนินรายการที่ผสมผสานเรื่องจริงกับความบันเทิงได้อย่างชัดเจน สามารถควบคุมสถานการณ์ในหลายเหตุการณ์ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ จึงเป็นเสน่ห์ของรายการโหนกระแสที่ติดตามกระแสสังคมและเปิดโอกาสให้ผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทในการแจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์กับรายการมากมายจริงๆ ประการที่สามทักษะการจัดการประเด็นอ่อนไหวและการนำเสนออย่างรับผิดชอบ การรายงานข่าวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดราม่าหรือความขัดแย้ง รายการโหนกระแสต้องใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอ เราต้องไม่ตัดสินฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม”
อาจารย์ ดร.กฤติญา กวีจารุกรณ์ ได้สรุปประเด็นเสวนาในหัวข้อ “ไวรัลหรือวิกฤต: โซเชียลกับเกมข่าวยุคดิจิทัล” ว่า “โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในยุคดิจิทัล สามารถสร้างทั้ง ‘ไวรัล’ และ ‘วิกฤต’ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ผลิตข่าวและผู้เสพข่าว นักข่าวมืออาชีพต้องปรับตัว พัฒนาทักษะในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำเสนอข่าวสารอย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและนำพาสังคมให้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง นักข่าวและผู้ผลิตเนื้อหาในยุคดิจิทัลต้องยึดหลักจรรยาบรรณ ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงานข่าว และสร้างประโยชน์สูงสุดแก่สังคม”
สำหรับบรรยากาศภายในงาน ณ สตูดิโอ 1 คณะนิเทศศาสตร์ เต็มไปด้วยความรู้และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะการนำเสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีวิจารณญาณ ทั้งจากมุมมองของผู้ผลิตข่าวสารและผู้บริโภค ทางคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี หวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานเสวนาครั้งนี้จะช่วยจุดประกายความคิดให้ผู้เข้าร่วมงานตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคข่าวสารในยุคดิจิทัล และมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารที่เท่าทันและมีคุณภาพต่อไป
#https://gooduniversity.net/