
วงจรชีวิตที่การเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา เรียกได้ว่าตลอดการทำงานคงพบผู้คนไม่น้อย ต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านคงพอเปรียบได้ดั่งวิชาชีพแพทย์ที่แตกแขนงเฉพาะทางออกไป “นายแพทย์วงษ์ธวัชร์ เหลี่ยวรุ่งเรือง” ศิษย์เก่าดีเด่นจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดกระดูกสันหลัง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยาอีกด้วย วันนี้อาจารย์หมอพาย้อนวัยสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์เฟรชชีปีหนึ่ง ภาพจำของเด็กแพทย์ที่หลายคนรู้จัก แว่นตาหนาเตอะ เด็กเนิร์ดหนอนหนังสือ จะเปลี่ยนไปบ้างไหมนะ ?
ตัวตึงแพทย์รังสิต ตึงวิชาการ ตึงงานกิจกรรม
“ผมคงต้องขอลบภาพเด็กเนิร์ดที่ทุกคนมีออกไปสักครู่หนึ่ง เด็กแพทย์ที่รักในกิจกรรมอยู่ทางนี้ครับ งานรับน้อง กีฬามหาวิทยาลัย หรือแม้แต่งานออกหน่วยของคณะ ผมไม่อยากพลาดเลย การที่เรามีโอกาสได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ออกชุมชน สิ่งเหล่านั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะการเป็นหมออาสา ผมเรียนรู้และนำประสบการณ์นั้นมาต่อยอดในวิชาชีพจนถึงปัจจุบัน”
อาจารย์วงษ์ธวัชร์ เป็นจุดเด่นของวิทยาลัยแพทย์ ม.รังสิต ที่จะพบเจอได้ในแวดวงงานกิจกรรม พี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ เป็นหลักคิดของการเรียนร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้ บางครั้งการทบทวนบทเรียนโดยมีรุ่นพี่มาช่วยติวเป็นเรื่องที่ดี นอกจากจะมีเพื่อนร่วมคิดยังมีมิตรร่วมฮาไปด้วย แม้จะจบการศึกษาแยกย้ายกันไปแล้ว เพื่อน พี่น้อง ยังคงเป็นคอนเน็กชันที่ดีเสมอมา
เมื่อนักศึกษาแพทย์เรียนครบหลักสูตร ๖ ปี จะก้าวเข้าสู่การเป็นหมออายุรกรรมทั่วไป ตลอดการทำงานของอาจารย์วงษ์ธวัชร์ ผู้ป่วยที่มาด้วยโรคภัยที่แตกต่างกัน จำนวนแพทย์ที่ขาดแคลนอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพมากขึ้น จึงตัดสินใจศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางต่อยอดเป้าหมายของตนอีกครั้ง
“ผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาโรคภัยที่เห็นได้ชัดมักเป็นเรื่องของความเสื่อมของกระดูกและข้อ ซึ่งเป็นปกติที่พบได้ในผู้สูงอายุ น่าประหลาดใจเหตุใดผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นแต่จำนวนแพทย์ไม่แปรผันตาม ยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัดนับว่าขาดแคลนค่อนข้างมาก ผมเล็งเห็นถึงความสำคัญในปัญหานี้ จึงเลือกเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง”
ค้นพบ ต่อยอด… ผลักดันสู่การเป็นแพทย์ปัญญาประดิษฐ์
ศาสตร์ที่รวมองค์ความรู้ในหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ อย่างระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่มีความซับซ้อนในการวิเคราะห์ข้อมูล ถูกคิดค้นและพัฒนาต่อยอดในวงการแพทย์ ทำให้แพทย์เฉพาะทางทำงานได้ง่ายขึ้น อาจารย์วงษ์ธวัชร์เล่าให้ฟังว่า ในช่วงของการศึกษาต่อพบความถนัดเกี่ยวกับการทำงานวิจัย นำความรู้ทางการแพทย์มาผสมผสานกับปัญญาประดิษฐ์ ทำให้งานวิจัยเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศที่มีการยอมรับสูงและสามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรม (Innovation) ต่อไปในอนาคต
“รู้สึกเป็นเกียรติที่สุดในชีวิต เมื่อมีโอกาสกราบบังคมทูลรายงานต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ
นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ทางด้านงานออร์โธปิดิกส์หรืองานกระดูกและข้อ เป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจวิเคราะห์โรคกระดูกสันหลังเสื่อม โดยใช้ภาพเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging : MRI) หรือ ภาพการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทางการแพทย์”
ความภาคภูมิใจนี้ยังคงไม่สิ้นสุด เมื่อทราบว่าอาจารย์วงษ์ธวัชร์ได้รับเลือกเป็นแพทย์ผ่าตัดของสมาคมเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Spine Society: APSS) และในปี ๒๐๒๑ ที่ผ่านมายังเป็นแพทย์ดีเด่นในเรื่องการผ่าตัดกระดูกสันหลังอีกด้วย เป็นความสำเร็จที่ไม่อาจบอกเล่าได้ทั้งหมด เพียงรอยยิ้ม แววตา พร้อมน้ำเสียงที่สั่นเครือด้วยความตื้นตันใจ คงพอคาดเดาได้ว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจารย์ทุ่มเทและตั้งใจมากเพียงใด
ความสุขบนวิถีชีวิตแพทย์
“ตอนนี้ผมเป็นหมอผ่าตัดกระดูกสันหลังเพียงคนเดียวของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา การได้ผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนสูงแล้วเขาหายจากโรคภัยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเกือบปกติหรือปกติ ถือว่าเป็นความสุขที่สุดของการเป็นแพทย์แล้ว”
ชีวิตการเป็นแพทย์ต้องมีความยืดหยุ่นบางอย่างสูง บางครั้งเรามองว่ามีโอกาสที่ดีกว่าคนอื่น ทำให้เราอยากอุทิศตนในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น นอกจากบทบาทของแพทย์ผ่าตัด หน้าที่ของการเป็นอาจารย์ก็เป็นอีกหนึ่งความสุขในเส้นทางชีวิตนี้ การเรียนแพทย์ไม่เพียงสอนหลักสูตรการรักษา ทว่ายังคงช่วยฝึกความอดทน ฝึกวินัยในตนเอง เมื่อเห็นนักศึกษาประสบความสำเร็จในวิชาชีพ ย่อมเป็นความภูมิใจของอาจารย์แพทย์ทุกคน
#https://gooduniversity.net/