
สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำโดย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย นายพงศภัค เสนาภักดิ์ และนายธีรวัติ ศรีประโชติ นักกีฬาหนูน้อยจ้าวเวหา และทีมงานสมาคมฯ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำผลงานโดรนจุดพลุไฟ คว้าสามรางวัลในเวที “The 50th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คว้าสามรางวัลเวทีนานาชาติ
ทีมนักกีฬาหนุ่มน้อยจ้าวเวหาไทยพีเอส คว้าเหรียญทอง จากองค์กรสิ่งประดิษฐ์ ของสวิสเซอร์แลนด์ ต่อด้วยรางวัลโล่ห์เชิดชูเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการของซาอุดิอาระเบีย และรางวัลพิเศษจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 50 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
“รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ได้เหรียญทอง เพราะปีที่แล้วเราได้เหรียญเงิน มาครั้งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้ หนูน้อยจ้าวเวหาได้มีการต่อยอดนำความรู้ที่นำมาโชว์กับนานาชาติในวันนี้ ไปสานต่อแล้วก็ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับน้อง ๆ เยาวชนในประเทศไทยของเรานะครับ พร้อมทั้งจะมีการทำให้การแข่งขันรายการหนูน้อยจ้าวเวหามีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น จากประสบการณ์ที่เราได้รับในการประกวดการผลิตในครั้งนี้ครับ” นายพงศภัค เสนาภักดิ์ และนายธีรวัติ ศรีประโชติ นักกีฬาหนูน้อยจ้าวเวหา กล่าวเปิดเผยหลังคว้าเหรียญทอง
“ฝรั่งเห็นและดีใจกับคนไทย ที่มีนวัตกรรมโดรนและสร้างเองได้ ทำได้ขนาดนี้ เขาถามว่าทำไมเราต้องทำ ก็ตอบเขาไปว่า เนื่องด้วยคนไทยนำโดรนจีนเข้ามาเยอะ จำนวนลำเราสู้เขาไม่ได้ เราก็เลยไปเรื่องพลุ และจุดพลุหลาย ๆ ลูกบ้าง ภูมิใจจริง ๆ กับเวลา 23 ปี ที่ตั้งใจทำเรื่องการบินมาโดยตลอด ถึงจะมีอุปสรรคมากมาย แต่เราก็ผ่านมาได้พร้อมกับความสำเร็จทุกเรื่องที่สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุได้ทำมา คำว่ายิ่งให้ก็ยิ่งได้ที่ในหลวงได้กล่าวไว้ เป็นจริงเสมอครับ” นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมฯ
โดยการโดรนมิชชั่น สนาม 2 จะแข่งขันกันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 20-22 มิถุนายน 2568
“The 50th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นงานการประกวดและนำเสนอผลงานของนักประดิษฐ์จากประเทศต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 50 ถือเป็นเวทีที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป และเป็นเวทีที่ได้รับความสนใจจากนักประดิษฐ์ นักวิจัย นักลงทุน และนักวิชาการจากทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นโดย PALEXPO SA ร่วมกับ International Federation of Inventors’ Associations (IFIA) สหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ ภายใต้การสนับสนุนของเมืองเจนีวา รัฐบาลสวิส และ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ World Intellectual Property Organization (WIPO) ในงานดังกล่าวมีผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันต่างๆ นักวิจัยและนักประดิษฐ์อิสระจากสวิสและต่างประเทศ เข้าร่วมประกวดและจัดแสดง จำนวนกว่า 1,000 ผลงาน จากองค์กรประเทศต่างๆ กว่า 40 ประเทศ โดย วช. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศไทย (Exclusive Agency) ในการนำผลงาน เพื่อเข้าร่วมนำเสนอและประกวดในเวทีดังกล่าว โดยในปี 2025 นี้ มีผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมจากประเทศไทยมากกว่า 120 ผลงาน และมาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากกว่า 40 หน่วยงานเข้าร่วมการประกวด
#https://gooduniversity.net/