“ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนสำรวจและทำความเข้าใจปรากฎการณ์ “มูเตลู” ไสยศาสตร์และสิ่งลี้ลับที่สะท้อนสภาพสังคม วิถีชีวิตและสภาวะจิตใจของคนเมือง ที่ต้องต่อสู้กับความเปลี่ยวเหงาและความไม่แน่นอนในชีวิต
เมื่อเอ่ยถึง “ไสยศาสตร์” ศาสตร์ลี้ลับเหนือธรรมชาติ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่อง “งมงาย” ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่หากดูในสื่อและพื้นที่ชีวิตของผู้คนแล้ว เราจะพบว่า “ความมูเตลู” นั้นกระจายอยู่ทั่วทุกแห่งในสังคมเมือง
สี่แยกใหญ่ใจกลางเมืองอย่างแยกราชประสงค์ – แหล่งเศรษฐกิจการค้าและการชอปปิ้ง เป็นศูนย์รวมของเทพเจ้าต่าง ๆ ที่คนไทยและต่างประเทศนิยมมากราบไหว้ขอพรเพื่อความสำเร็จในการงาน โชคลาภ และความรักความสัมพันธ์
ยิ่งในช่วงกว่าทศววรรษหลังมานี้ กระแสความนิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวัตถุมงคลยิ่งเพิ่มและขยายตัว เกิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์หน้าใหม่ ๆ อาทิ พญานาค พญาครุฑ ท้าวเวสสุวรรณ พระราหู ตลอดจนไอ้ไข่ และครูกายแก้ว ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคม
ในสื่อโซเซียลมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์มากมาย อีกทั้งมีช่องทางรวบรวมและอัปเดท “เทรนด์สายมู” ในแต่ละปี และล่าสุดก็มีเว็บไซต์ที่จะพาผู้สนใจเดินทางไปในโลกออนไลน์เพื่อสักการะสิ่งเคารพอินเทรนด์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโหราศาสตร์ วิธีแก้ปีชง เครื่องลางของขลัง หินนำโชค น้ำมันเสริมเสน่ห์ ผ้ายันต์ของทีมฟุตบอลระดับโลก และการนำเสนอข่าวใกล้วันออกผลสลากกินแบ่งรัฐบาล อาทิ เลขทะเบียนรถของนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องแปลก เช่น ปลาช่อนสีทอง จอมปลวกรูปเหมือนพญานาค
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นที่ไสยศาสตร์ในเมืองที่หลากหลายและขยายตัวตามการเติบโตของเมือง
“การที่ไสยศาสตร์งอกงามในสังคมเมืองเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมเมือง ที่ทำให้ผู้คนเข้าหาและพึ่งพิงไสยศาสตร์ ผู้คนกำลังแสวงหาอะไรหรือรู้สึกอย่างไรในสังคมนี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญญา วัฒนกุล ศูนย์ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬางกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นและเป้าหมายของการเสวนา “เคลือบแคลง ย้อนแย้ง แสวงหา: ไสยศาสตร์ในวิถีเมือง ในงานอักษรศาสตร์สู่สังคม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
ในการเสวนาครั้งนี้ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงทัศนะเพื่อทำความเข้าใจปัจจัยที่ส่งเสริมวิถีปฏิบัติต่อสิ่งเหนือธรรมชาติในบริบทเมือง
“หลายคนอาจจะมองว่าไสยศาสตร์เป็นเรื่องลี้ลับ งมงาย แต่หากทำความเข้าใจให้ลึกลงไป ก็จะเห็นว่าไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตเมือง ที่มีความผันผวนและเปลี่ยวเหงา ความเข้าใจหน้าที่ของไสยศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจสภาวะจิตใจของคนที่อยู่ในเมือง” ผศ.ดร.พิพัฒน์ จากคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าว
ผศ.ดร. เกษม ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า “ไสยศาสตร์ไม่ใช่เรื่องโบราณล้าสมัย หากเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยนับแต่โบราณมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สังคมเผชิญกับความปั่นป่วนโกลาหล”
เข้าใจไสยศาสตร์ที่อยู่เหนือความงมงาย
ผศ.ดร.พิพัฒน์ จากคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเดิมที ไสยศาสตร์ไม่ใช่สิ่งงมงาย จนเมื่อสังคมเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์แพร่กระจายเข้ามา
“โลกทัศน์ของคนโบราณสมัยก่อน ร.4 ไม่ได้มองไสยศาสตร์จำกัดอย่างปัจจุบัน ไสยศาสตร์ไม่ใช่ความลี้ลับหรือมนต์ดำ หากแต่เป็นศาสนาและความเชื่อที่มีองค์ประกอบเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ ความวิเศษซึ่งเป็นความหมายของคำว่าไสยศาสตร์ การท่องมนต์และพิธีกรรม นอกจากนี้ ไสยศาสตร์ในไทยยังมีการผสมผสานความเชื่อในท้องถิ่นเข้าไปด้วย”
“ในโลกทัศน์สมัยใหม่ หลักคิดแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) ทำให้วิทยาศาสตร์ตรงข้ามกับไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์จึงกลายเป็นเรื่องงมงาย เหลวไหล ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ไสยศาสตร์ก็ยังอยู่ตรงข้ามกับพุทธศาสน์ด้วย โดยไสยศาสตร์แปลว่าผู้หลับ ความเชื่อที่หลับใหล ตรงข้ามกับพุทธศาสน์ซึ่งเป็นศาสนาแห่งความตื่นรู้”
สำหรับอาจารย์ด้านปรัชญา ผศ.ดร.เกษม กล่าวว่าวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ ไม่ต่างกันในแง่เป็นระบบความคิดของมนุษย์
“ไสยศาสตร์เป็นภูมิปัญญา ระบบความคิดความเชื่อของมนุษย์ที่พยายามสร้างคำอธิบายให้กับสิ่งที่มนุษย์ไม่เข้าใจ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ทำให้เราเข้าใจโลกเข้าใจตัวเอง ตอบโจทย์อนาคตที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และบางสิ่งที่เราอาจจะเข้าไปแก้ไขไม่ได้ ชุดความเชื่อทางไสยศาสตร์ทำให้เราคิดกับสิ่งเหล่านี้ได้”
ไม่ว่าโลกสมัยใหม่จะผลักไสยศาสตร์ให้เป็นคู่ตรงข้ามกับพุทธศาสน์และวิทยาศาสตร์ แต่หน้าที่และความหมายของไสยศาสตร์ในพื้นที่ชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์ก็ยังคงเดิม ซ้ำในบริบทเมืองในโลกยุคนี้ กลับทวีความสำคัญ ผศ.ดร.เกษม กล่าว
“ไสยศาสตร์เป็นระบบความเชื่อของมนุษย์ที่ตอบโจทย์ความต้องการทางใจและจิตวิญญาณ หน้าที่ของไสยศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่คือ spiritual exercise ที่ช่วยให้มนุษย์เข้มแข็งขึ้น มีความหวัง มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ในโลกที่มีความไม่แน่นอน”
ผศ.ดร. กัญญา กล่าวเสริมว่าในโลกสมัยใหม่ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบและสะท้อนความจริงหลายอย่าง แต่สิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจทำหน้าที่แทนไสยศาสตร์ได้คือมิติด้านความรู้สึก
“แม้มนุษย์ในปัจจุบันจะมีความรู้และความเข้าใจเชิงเหตุผล มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเข้าใจความเป็นจริง แต่บางครั้งความจริงก็ไม่ตอบโจทย์ทางอารมณ์ เช่น ความเศร้า ความหวัง — ไสยศาสตร์ แม้จะไม่เมคเซ้นส์ (make sense) แต่ก็ทำให้อุ่นใจ”
ไสยศาสตร์ ผนึกความรู้สึกร่วมของชุมชนชนบท
ไสยศาสตร์ดำรงอยู่ในวิถีชนบทและบริบทเมือง หากแต่ตอบโจทย์และตอบสนองเป้าหมายและความต้องการของผู้คนต่างกัน
ผศ.ดร.เกษม กล่าวว่าในสังคมชนบท ไสยศาสตร์รับใช้ “ความเป็นชุมชน” (collective) ในขณะที่ชุมชนเมือง ไสยศาสตร์ตอบสนอง “ความเป็นปัจเจกชน”
“ไสยศาสตร์มีบทบาทค่อนข้างมากและสำคัญกับสังคมชนบท กิจกรรมของไสยศาสตร์อยู่ในโลกพิธีกรรม ประเพณี ซึ่งโยงกับกลุ่มคนที่มีความเชื่อร่วมกัน ตอบโจทย์การดำรงอยู่ของชุมชน ในบริบทเช่นนี้ พิธีกรรมสำคัญกว่าความเชื่อ บางความเชื่อ คนอาจไม่เชื่อเรื่องนั้นแล้ว แต่พิธีกรรมยังดำรงอยู่เป็นเครื่องมือยึดโยงคนในชุมชน”
ผศ.ดร.เกษม ยกตัวอย่าง “พิธีกรรมแห่นางแมว” ซึ่งยังคงมีปฏิบัติอยู่ในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน
“แม้จะยังมีพิธีกรรมนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าชุมชนและผู้ที่ทำพิธีกรรมนี้จะเชื่อว่าแห่นางแมวแล้ว ฝนจะตก แต่พิธีกรรมช่วยตอบโจทย์สภาพจิตใจและความหวังร่วมของชุมชน”
ไสยศาสตร์ ตัวช่วยรับมือโลกป่วนและบริหารความเสี่ยง
ผศ.ดร.เกษม อ้างถึงยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ทางปรัชญา ที่ความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ความลี้ลับ (mysticism) ไสยศาสตร์ เกิดขึ้นมากมาย
“ยุคหลังเมืองเอเธนส์ล่มสลายและก่อนโรมเอมไพร์จะก่อตั้งขึ้น ยุคนั้นทางปรัชญามองว่าเป็นยุคที่ยุ่งเหยิงและโกลาหลที่สุด ซึ่งในยุคนี้นี่เอง ที่เกิดระบบ mysticism หรือความเชื่อเหนือธรรมชาติมากมาย นั่นหมายความว่าในยามที่บ้านเมืองปั่นป่วน ชีวิตไม่นิ่ง ผันผวนและมีความไม่มั่นคง มนุษย์จะเข้าหาสิ่งที่คิดว่านิ่งที่สุด เป็นหลักพึ่งพิงเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงของชีวิต”
และพื้นที่ที่เผชิญกับความโกลาหลและปั่นป่วนที่สุดก็คือพื้นที่เมือง!
จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่เมืองในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของความเจริญทางวัตถุ เทคโนโลยี วิชาการความรู้และความหลากหลายทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมความเชื่อและวิถีปฏิบัติเชิงไสยศาสตร์ที่หลากหลายด้วย
“ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตของคนในสังคมเมือง” ผศ.ดร.กัญญา อธิบายเชื่อมโยงความเฟื่องฟูของไสยศาสตร์กับบริบทสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคง ไม่แน่นอน ไม่ปลอดภัย และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสในชีวิต
“ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของเมือง ความรวยกระจุก จนกระจาย ช่องว่างทางรายได้มาก ความเหลื่อมล้ำสูง ผู้คนจำนวนมากจึงเข้าหาความเชื่อเชิงไสยศาสตร์เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินและความไม่แน่นอนของชีวิต ไม่ว่าจากสภาวการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม”
ผศ.ดร.กัญญา ยกตัวอย่าง คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในเมือง รับค่าแรงรายวัน ซึ่งชีวิตในบริบทเช่นนี้มีความไม่มั่นคง ความไม่แน่นอน และความไม่ปลอดภัยสูง
“ลำพังรายได้ก็อาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายรายวันอยู่แล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงเงินเก็บเพื่อใช้ในยามมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ของในไซต์งานก่อสร้างหล่นลงมา เขาก็ต้องการใช้เงินในการรักษาและดูแลความเป็นอยู่ในเวลาที่ป่วย ไปทำงานไม่ได้ ในสภาวะชีวิตที่มีความเสี่ยงเยอะ ไม่มีต้นทุน ไม่มีทรัพยากรที่จะสามารถช่วยให้คนเหล่านี้รับมือกับเหตุฉุกเฉินในชีวิตได้ คนก็จะหันไปหาที่พึ่งทางใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อสร้างความอุ่นใจในชีวิต”
ไม่เพียงกลุ่มคนที่เข้ามาเป็นแรงงานในเมือง (blue collar) แต่คนในสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะมั่นคง (white collar) ก็พึ่งพิงไสยศาสตร์เช่นกัน
ผศ.ดร.เกษม กล่าวเสริมทัศนะในเรื่องนี้ว่า “แต่ก่อน ผมไม่คิดว่าหมอ วิศวกร กลุ่มคนที่อาชีพดูมั่นคง จะให้ความสำคัญกับการดูดวงหรือเรื่องอะไรแบบนี้ แต่กลายเป็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ เหมือนกับว่ามันมีสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจตอบได้ แม้คนที่ดูว่าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจมั่นคงแล้ว ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต มีสิ่งที่ไม่รู้ และไสยศาสตร์ก็อาจจะช่วยให้พวกเขาอยู่กับความไม่รู้และความไม่แน่นอนได้”
ไสยศาสตร์ เติมเติมความหวังในโลกทุนนิยม
ในบรรดาความปั่นป่วนไม่แน่นอนของสังคม มิติด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเดินเข้าสู่พื้นที่ของไสยศาสตร์มากที่สุด ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าว
“ไสยศาสตร์ในสังคมเมืองเน้นตอบสนองความต้องการและเป้าหมายเชิงปัจเจก และวนเวียนอยู่กับเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวย ความสำเร็จ มิติความรักความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเมืองในโลกทุนนิยมแสวงหา”
ความรู้สึกแก่งแย่งชิงดี การสั่งสมความมั่งคั่งตามกระแสทุนนิยม ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง เมื่อรู้สึกไม่มั่นคง ก็ยิ่งแสวงหาความเชื่อ พลังเหนือธรรมชาติเพื่อบันดาลในสิ่งที่ปรารถนา
“ความปรารถนาในความมั่งคั่งทำให้เกิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรม และวัตถุมงคลใหม่ ๆ ที่เชื่อและคาดหวังว่าจะนำโชคลาภและความสำเร็จทางด้านวัตถุมาให้”
วัตถุมงคลให้โชคเป็นที่นิยม เช่นเดียวกับการใบ้หวยและนำเสนอข่าวเรื่องราวสิ่งแปลกประหลาดที่อาจจะนำไปตีเป็นตัวเลขได้ และการไหว้เทพเจ้าที่เชื่อว่าจะให้โชคลาภ
“สภาวะทางสังคมแบบไหนที่ทำให้คนหันไปหาที่พึ่งจากสิ่งเหนือธรรมชาติมากกว่าแสวงหาความช่วยเหลือจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ หรือจากคนในสังคมด้วยกันเอง” ผศ.ดร.กัญญา ตั้งคำถามและเสนอข้อคิดเห็นว่า “มันเป็นเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ ที่ไม่โอบไม่เอื้อ ไม่มีสวัสดิการที่จะมาช่วยเหลือผู้คนเวลาที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตหรืออยู่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ถ้าเราอยากรวยเท่ากับคนรวย 10% ของประเทศ ดูเหมือนมันไม่มีทางอื่นเลย นอกจากต้องถูกลอตเตอรี่เท่านั้นหรือเปล่า”
ไสยศาสตร์ ปลอบประโลมความเหงาของคนเมือง
เมืองหลวงมีผู้คนจากทั่วประเทศและประเทศใกล้เคียง หลั่งไหลเข้ามาหาโอกาสในการทำงาน การที่อยู่ห่างไกลบ้านและถูกตัดขาดจากครอบครัวและชุมชนที่คุ้นเคย ทำให้ “ไสยศาสตร์” ทำหน้าที่เป็น “ที่พึ่งทางใจ” และ “สิ่งยึดเหนี่ยว” ให้อยู่ในสังคมเมืองอันโกลาหล
“แม้ในเมืองจะมีผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาอยู่มากมาย แต่เมืองไม่เป็นพื้นที่รองรับความเปลี่ยวเหงา พวกเขารู้สึกถูกตัดขาดจากชุมชน จากความเชื่อที่ยึดโยงเขากับรากฐานของชีวิตและวัฒนธรรม ไสยศาสตร์จึงเป็นที่พึ่งและตอบสนองด้านจิตใจได้” ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ผศ.ดร.พิพัฒน์ ให้ข้อสังเกตว่าการขอพรเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ ครอบครัว เป็นสิ่งที่เด่นชัดมากในวิถีของคนเมือง
“ในเมือง ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยว ก็อยากจะมีคู่ (เพื่อคลายความโดดเดี่ยว) และไสยศาสตร์พยายามตอบโจทย์ภาวะทางความรู้สึกนี้”
มูเตลูฉบับโมเดิร์น
ความที่เมืองเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม จึงเกิดชุดความเชื่อ วิถีปฏิบัติย่อย ๆ และวัตถุทางความเชื่อมากมายและหลากหลาย เทพเจ้าและผีตนใหม่ ๆ ปรากฎขึ้นเรื่อย ๆ ให้คนเมืองได้ชอปปิ้งตามสะดวกและตามใจปรารถนา มีทั้งเทพดั้งเดิมที่เป็นเทพเจ้าฮินดู จีน และพุทธ ผีโบราณและผีใหม่ ๆ ที่หลุดมาจากโลกการ์ตูนและวรรณคดี อย่างเช่นที่มีร่างทรงโดเรมอน ร่างทรงพ่อปู่ไจแอ้นท์ และร่างทรงผีเสื้อสมุทร
“การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและภูมิหลังอันหลากหลาย ซึ่งก็มีความเชื่อมีวิธีปฏิบัติบางอย่าง จิตวิญญาณติดมากับตัวเอง พอมาเจอกันในบริบทเมือง ย่อมนำไปสู่ผสมผสานก่อให้เกิดเป็นความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติใหม่ ๆ ขึ้นมา นำไปสู่การเติบโตของความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณรูปแบบใหม่ ๆ” ผศ.ดร.เกษม กล่าว
นอกจากนี้ คนเมืองสมัยใหม่นิยมเรียกชุดความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ว่า “สายมู” หรือ “มูเตลู” ทำให้เรื่องนี้ดูทันสมัยขึ้น ลดความลี้ลับหรือความมืดดำ (ดาร์ค)
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ อยู่กับมูเตลูด้วยความเข้าใจ
ไสยศาสตร์ มีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ แต่แม้จะไม่เชื่อ คำพูดที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ก็ช่วยเปิดพื้นที่ให้ไสยศาสตร์และความเชื่อเหนือธรรมชาติ อยู่ได้และขยายตัวในสังคม
“คำพูดนี้ทำให้ความเชื่อใหม่ ๆ เข้าไปอยู่ในการรับรู้ของคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นกระแสของสังคมไปโดยปริยาย” ผศ.ดร.กัญญา กล่าว
ในกรณีที่มีประเด็นถกเถียงทางความเชื่อในสังคม เช่น เกิดเทพหรือผีตนใหม่ ๆ หรือวิถีปฏิบัติใหม่ ๆ คำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ก็ดูเหมือนจะช่วยเปิดพื้นที่ให้คนได้ทดลอง “ถ้าไม่เสียหาย ไม่ผิดกฎหมาย และศีลธรรม ก็น่าจะลองดู” และทำให้คนที่เชื่อและไม่เชื่อ อยู่ร่วมกันได้บนพื้นที่ของความเชื่อที่ต่างกัน
“ไสยศาสตร์และความเชื่อเหนือธรรมชาติไม่ได้เป็นความงมงาย แต่สะท้อนโลกทัศน์และความตระหนักที่ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล” ผศ.ดร.กัญญา กล่าว
“โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน มีปัจจัยมากมายและซับซ้อนเกินกว่ามนุษย์จะควบคุมได้ ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ หลักเหตุผลไม่เพียงพอ และหลายครั้งก็ไม่อาจตอบสนองความต้องการของเราได้ ผู้คนต่างหาแนวทางในการตอบโจทย์การมีชีวิต และไสยศาสตร์เป็นหนึ่งในคำตอบ คู่ไปกับหลักศาสนาและหลักเหตุผล”
รับฟังคลิปเสวนา “เคลือบแคลง ย้อนแย้ง แสวงหา: ไสยศาสตร์ในวิถีเมือง” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=u-p3ynGLfSU
ธิติรัตน์ สมบูรณ์ ผู้ส่งข่าว