เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) ได้เริ่มโครงการใหม่ “นวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อฟื้นฟูสุขภาพและคืนความอ่อนเยาว์” (Revitalizing & Rejuvenating Innovation Course for Health: 2RICH) โดยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 4 หน่วยงานดังนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) เพื่อพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยแก่ประเทศไทย ภายใต้นโยบายการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนในด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ เป้าหมายหลักของโครงการนี้คือการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูสุขภาพและคืนความอ่อนเยาว์ สำหรับแพทย์และผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ของประเทศไทย
ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ มกธ. โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์ ไวคกุล คณบดี นพ.องอาจ ศิริกุลพิสุทธิ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผศ.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ น.ส.กริชผกา บุญเฟื่อง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และนายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว โดยมี รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยผู้บริหารของ มกธ. และหน่วยงานที่ร่วมลงนามความร่วมมือ ตลอดจคณาจารย์ นักศึกษา และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยานในโอกาสนี้ด้วย ณ อาคารปฏิบัติการ การโรงแรมและการท่องเที่ยว ชั้น 2 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังจะมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเพื่อยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบการ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมด้านสุขภาพให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับต่อยอดธุรกิจ ซึ่งจะเอื้อต่อการสนับสนุนด้านการสร้างชื่อเสียงในภาคอุตสาหกรรมด้านสุขภาพของไทย รวมถึงการผลักดันให้เกิดการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์จากแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถืออีกด้วย
การพัฒนาความก้าวหน้าจากความร่วมมือของทั้ง 5 หน่วยงานดังกล่าว จะก่อให้เกิดการเติมเต็มการเผยแพร่ และการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน รวมทั้งการประสานความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง การบริการ และกิจกรรมของทั้ง 5 หน่วยงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหน่วยงาน และภาคธุรกิจด้านสุขภาพ ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในอนาคต
#https://gooduniversity.net/